วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562

ข่าวที่ 7

อวกาศ : นักดาราศาสตร์ค้นพบน้ำเป็นครั้งแรกบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในเขตเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิต



ทีมนักดาราศาสตร์ของสหราชอาณาจักรค้นพบว่า ดาว K2-18b ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างจากโลก 111ปีแสง มีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญในชั้นบรรยากาศ
ถือเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบร่องรอยของน้ำ บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรอยู่ในเขตเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต(Goldilocks Zone) กล่าวคือดาวเคราะห์อยู่ในระยะห่างจากดาวฤกษ์อย่างพอเหมาะ ทำให้มีอุณหภูมิไม่ถึงขั้นร้อนจัดหรือเย็นจัดมากเกินไป จนน้ำสามารถคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ที่พื้นผิวดาวได้
ทีมนักดาราศาสตร์จากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน หรือยูซีแอล (UCL)รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสารNature Astronomy โดยระบุว่าการค้นพบน้ำบนดาวเคราะห์ที่อยู่ในเขตอุณหภูมิเหมาะสมดังกล่าว ทำให้ดาว K2-18b กลายเป็นสถานที่เป้าหมายในการค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวแห่งหนึ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้
ศาสตราจารย์จีโอวานนา ทีเร็ตตี ผู้นำทีมนักดาราศาสตร์ของยูซีแอลบอกว่า ได้ค้นพบน้ำบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดังกล่าว จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลตรวจพบระหว่างปี2016-2017 และทราบถึงองค์ประกอบทางเคมีในชั้นบรรยากาศของดาวดวงนี้ได้ โดยสังเกตลักษณะของแสงที่ส่องผ่านชั้นบรรยากาศออกมา ซึ่งแสงดาวจะเปลี่ยนไปขณะที่ดาวเคราะห์กำลังเคลื่อนผ่านตัดหน้าดาวฤกษ์ของตนเอง คนส่วนใหญ่รู้จักปรากฏการณ์นี้ในชื่อว่า "ทรานซิต" (transit)
ผลการวิเคราะห์แสงดาว K2-18b ขณะเกิดปรากฏการณ์ทรานซิต ชี้ว่ามีโมเลกุลของน้ำอยู่ในชั้นบรรยากาศปริมาณมาก โดยอาจมีน้ำเป็นองค์ประกอบได้สูงสุดถึง 50% เลยทีเดียว


ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งกำเนิดและอาศัยของสิ่งมีชีวิตคล้ายกับโลกอีกด้วย เช่นมีขนาดไม่ใหญ่โตจนเกินไป โดยมีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 2 เท่า และคาดว่ามีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 0-40 องศาเซลเซียส จัดว่าเป็นดาวเคราะห์ประเภทซูเปอร์เอิร์ธ (Super-Earth) คือมีขนาดใหญ่กว่าโลกแต่ไม่ใหญ่เกินขนาดของดาวน้ำแข็งอย่างเนปจูนและยูเรนัส
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาว K2-18b จริงหรือไม่ แต่ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์จะสามารถใช้อุปกรณ์สำรวจที่ทันสมัยขึ้น เข้าตรวจสอบก๊าซในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้ เพื่อให้ทราบว่ามีก๊าซที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตปะปนอยู่บ้างหรือไม่และมีอยู่มากน้อยเพียงใด
อุปกรณ์สำรวจรุ่นใหม่เหล่านี้ได้แก่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST)ซึ่งมีกำหนดจะปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี2021 รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ARIELขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งจะเริ่มใช้งานในปี 2028 โดยใช้รังสีอินฟราเรดตรวจจับองค์ประกอบต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจากระยะไกล
ศ. ทีเร็ตตีกล่าวด้วยว่า นักดาราศาสตร์ยังคงต้องศึกษาต่อไปในระยะยาว เพื่อให้ทราบว่าจะต้องใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่มองหาก๊าซชนิดใดบ้างที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งมีชีวิต โดยอาจจะต้องศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะหลายร้อยดวง รวมทั้งกำเนิดและความเป็นมาของมันเสียก่อนที่จะได้ข้อสรุปในเรื่องนี้

ข่าวที่ 6

สุขภาพจิต : ความเครียดของแม่อาจทำให้ลูกในท้องมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพเพิ่มขึ้น



งานวิจัยล่าสุดจากฟินแลนด์พบหลักฐานบ่งชี้ว่า เด็กที่แม่มีภาวะเครียดอย่างรุนแรงระหว่างตั้งครรภ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าที่จะเกิดภาวะผิดปกติทางบุคลิกภาพ (personality disorders) ภายในอายุ 30 ปี
งานวิจัยชี้ว่า แม้หญิงตั้งครรภ์จะมีภาวะเครียดเรื้อรังในระดับปานกลางก็อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารก และผลกระทบจะดำเนินต่อไปหลังเด็กคลอดออกมา

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพคืออะไร

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ คือ กลุ่มความผิดปกติทางจิตที่แสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรม การนึกคิด และความรู้สึก ที่ผิดแปลกไปจากผู้คนทั่วไป จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น
ความผิดปกติจำพวกนี้อาจรวมถึง ความรู้สึกวิตกกังวลหรือความแปรปรวนทางอารมณ์อย่างรุนแรง รวมทั้งความรู้สึกระแวง และต่อต้านสังคม
คาดว่า ภาวะผิดปกติทางบุคลิกภาพเป็นภัยคุกคาม คน 1 ใน 20 คน และคนเหล่านี้มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะมีปัญหาทางจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า หรือปัญหาการใช้ยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์
และเช่นเดียวกับความเจ็บป่วยทางจิตอื่น ๆ ปัจจัยเรื่องการเลี้ยงดู ปัญหาทางสมองและพันธุกรรม อาจมีส่วนให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพนี้ได้

งานวิจัยชิ้นนี้พบข้อมูลอะไรบ้าง

ผลการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ British Journal of Psychiatry โดยเก็บข้อมูลจากสตรีตั้งครรภ์กว่า 3,600 คนที่อาศัยอยู่รอบกรุงเฮลซิงกิ และให้กำเนิดบุตรระหว่างปี 1975 - 1976
ทีมนักวิจัยได้บันทึกข้อมูลเรื่องความเครียดของผู้หญิงเหล่านี้ โดยให้พวกเธอระบุระดับความเครียดขณะตั้งครรภ์ว่าอยู่ในระดับรุนแรง, เครียดเป็นครั้งคราว หรือไม่มีความเครียดเลย
ความเครียดเหล่านี้อาจมาจากปัญหาในชีวิตคู่ ปัจจัยทางสังคม หรือปัญหาทางจิต
จากนั้นเมื่อลูกของหญิงกลุ่มนี้มีอายุครบ 30 ปี ทีมนักวิจัยได้ติดตามว่าพวกเขามีความผิดปกติทางบุคลิกภาพหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่ามีด้วยกัน 40 คน โดยทั้งหมดมีอาการรุนแรงและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้พบว่า การที่มารดามีความเครียดรุนแรงเรื้อรังขณะตั้งครรภ์ทำให้ลูกที่เกิดมามีแนวโน้มมากขึ้น 9.53 เท่า ที่จะมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพเมื่อเทียบกับกลุ่มที่แม่ไม่มีความเครียดระหว่างตั้งครรภ์เลย
ส่วนโอกาสการเกิดภาวะผิดปกติทางบุคลิกภาพของลูกที่แม่มีความเครียดระดับปานกลางอยู่ที่ 4 เท่า

ความเครียดส่งผลเสียอย่างไร

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าความเครียดในแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะผิดปกติทางบุคลิกภาพของลูกได้อย่างไร แต่คาดว่าอาจมาจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมอง หรือมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือปัจจัยอื่นในการเลี้ยงดูเด็ก

ข้อแนะนำจากแพทย์

จิตแพทย์ ชี้ว่า จะต้องมีการจัดบริการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านสุขภาพจิตแก่สตรีมีครรภ์
ดร.ทรูดี เซเนวิรัตเน จากราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า การตั้งครรภ์คือช่วงเวลาแห่งความเครียด และหากไม่มีการแก้ปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นกับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ก็มีโอกาสสูงที่เธอจะมีภาวะซึมเศร้าหลังการคลอดบุตร

จะลดความเครียดระหว่างตั้งครรภ์อย่างไร

ดร.เซเนวิรัตเน ชี้ว่า ว่าที่คุณแม่ควรได้รับความช่วยเหลือทั้งที่บ้านและที่ทำงาน และมีการให้ความรู้ถึงวิธีจัดการกับความเครียด
"พวกเธอต้องเรียนรู้ที่จะพักผ่อน ขอความช่วยเหลือ และหาคนรับฟังความรู้สึกของพวกเธอ"
นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำให้ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ เลิกสูบบุหรี่ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วย

ข่าวที่ 5

บีบีซี กลับไปที่ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงหลังผ่านไป 15 ปี


เดวิด ชุกแมน บรรณาธิการข่าววิทยาศาสตร์ของบีบีซี เดินทางกลับไปยังจุดเดิมบนธารน้ำแข็งเซอร์มิลิก ทางใต้ของกรีนแลนด์ ซึ่งเขาเคยไปเยือนเมื่อปี 2004 โดยพบว่า ธารน้ำแข็งนี้บางลง 100 เมตรในช่วงเวลา 15 ปี
ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ในกรีนแลนด์ละลายมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และมีสภาพต่างไปจากปี 2004 อย่างมาก
เดวิด ชุกแมน บรรณาธิการข่าววิทยาศาสตร์ อธิบายในการเดินทางเยือนเมื่อปี 2004 ว่า กำแพงน้ำแข็งมหึมาบริเวณธารน้ำแข็งที่เขายืนอยู่ กำลังมีความสูงลดลงที่อัตรา 1 เมตรต่อเดือน
เดวิด กลับไปที่จุดเดิมบนธารน้ำแข็งเซอร์มิลิก และพบว่า มัน "สกปรกอย่างไม่น่าเชื่อ"
"มีรอยขนาดใหญ่แบบนี้หลายรอยดูเหมือนจะเป็นฝุ่น แต่ความจริงมันคือตะกอน มันเป็นมลพิษที่ถูกพัดพามาที่นี่จากโรงไฟฟ้าที่อยู่ห่างไกลออกไป" เขากล่าว
นอกจากนี้ ยังมีสาหร่ายที่เป็นพืชขนาดเล็ก ที่เติบโตในน้ำแข็งช่วงที่น้ำแข็งละลาย พวกมันทำให้พื้นผิวน้ำแข็งเป็นสีดำ และทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น
เดวิด เล่าว่า "ย้อนกลับไปในปี 2004 แผ่นน้ำแข็งน่าจะหนากว่าตอนนี้ 100 เมตรได้ มันเหมือนกับตึกสูง 30 ชั้น ตั้งอยู่บนนั้น ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว หายไปรวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ"
ถ้าแผ่นน้ำแข็งทั้งหมดละลายระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 7 เมตร การที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจะทำให้หลายประเทศ อย่าง อินโดนีเซีย บังกลาเทศและจีน อาจเสียพื้นที่ขนาดใหญ่เพราะจมอยู่ใต้น้ำ
"มันน่าตกใจมากที่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ และทำให้เกิดคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับธารน้ำแข็งนี้ และธารน้ำแข็งอื่น ๆ ในอีก 15 ปีข้างหน้า และนั่นจะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก" เดวิด กล่าว

ข่าวที่ 4

สุขภาพ : นอนน้อยเพียงคืนละ 4 ชั่วโมงไม่อ่อนเพลีย หากมียีนกลายพันธุ์



บรรดาคนดังและผู้นำประเทศหลายคน เช่นนายโดนัลด์ ทรัมป์และนางอังเกลา แมร์เคิลต่างเคยกล่าวอ้างว่า ตนเองประสบความสำเร็จได้เพราะทำงานหนักและนอนน้อยมากเพียง 4 ชั่วโมงต่อคืน ทั้งยังบอกว่าพฤติกรรมการนอนแบบนี้ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใดด้วย
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโก (UCSF) ของสหรัฐฯ รายงานว่าพบยีนกลายพันธุ์ชนิดหายากในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งยีนนี้จะทำให้เซลล์สมองตื่นตัวได้ง่ายกว่าและยาวนานกว่าคนทั่วไป
ผลการค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Neuron โดยทีมผู้วิจัยระบุว่าคนที่มียีน ADRB1 ชนิดกลายพันธุ์ จะต้องการเวลาเพื่อนอนหลับพักผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่าคนทั่วไปโดยเฉลี่ยราว 2 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถนอนหลับเพียงคืนละ 4 ชั่วโมง และตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลีย
กลุ่มผู้มียีนกลายพันธุ์ดังกล่าวซึ่งมีอยู่น้อยมาก ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นคนมีพลังกระฉับกระเฉง ทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน มองโลกในแง่ดี อดทนต่อความเจ็บปวดได้สูง ไม่มีอาการเจ็ตแล็กจากการโดยสารเครื่องบินข้ามเขตเวลา และอาจจะมีอายุยืนยาวกว่าคนทั่วไปด้วย ปัจจุบันทีมผู้วิจัยพบการถ่ายทอดยีนกลายพันธุ์ดังกล่าวใน 50 สายตระกูลเท่านั้น
มีการทดลองตัดต่อพันธุกรรมให้หนูมียีน ADRB1 แบบที่กลายพันธุ์เช่นเดียวกับในมนุษย์ แล้วพบว่าหนูดังกล่าวจะนอนน้อยลงโดยเฉลี่ยวันละ 55 นาที ซึ่งแสดงว่ายีนกลายพันธุ์ดังกล่าวทำให้วงจรการนอนหลับตามธรรมชาติของคนและสัตว์หดสั้นลง


การนอนน้อยที่เป็นผลมาจากพันธุกรรมนี้ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเหมือนกับการอดนอนของคนทั่วไป ซึ่งปกติแล้วมักส่งผลเสียต่อระบบเผาผลาญและระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อม โรคมะเร็ง รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย
ศาสตราจารย์ ฝู หยิงฮุย ผู้นำทีมวิจัยกล่าวว่า ยังไม่ทราบชัดถึงกลไกการทำงานของยีนกลายพันธุ์ที่ทำให้คนเรานอนน้อยลงได้โดยยังรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่พบว่าเซลล์ประสาทบางส่วนของหนูทดลองในก้านสมอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการนอนหลับนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยจะอยู่ในภาวะที่ตื่นตัวมากกว่าของหนูอื่น ๆ ขณะที่ไม่ได้นอนหลับ
ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยของ ศ. ฝู ได้เคยค้นพบการกลายพันธุ์ของยีน DEC2 ที่ทำให้คนเราสามารถจะนอนน้อยลงจากค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อคืน มาเป็นเพียง 6.25 ชั่วโมงต่อคืนมาแล้ว แต่ยีนกลายพันธุ์ดังกล่าวพบได้ในกลุ่มประชากรจำนวนน้อยมาก
"อาจมีการกลายพันธุ์ของยีนเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่ดีและให้ประโยชน์ แต่มันยังคงไม่แพร่หลายในวงกว้างพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ซึ่งนอน 8 ชั่วโมง เปลี่ยนพฤติกรรมมานอนน้อยลง" ศ. ฝู กล่าว
"ในอนาคตเราอาจผลิตยาที่ทำให้มนุษย์นอนน้อยลงได้แต่มีสุขภาพดีขึ้น หรือพัฒนายาที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอน โดยเลียนแบบกลไกการทำงานของยีนกลายพันธุ์ตัวนี้"

ข่าวที่ 3

นักฟิสิกส์เผยวิธีสร้าง "รูหนอน" แบบไม่พังทลายในชั่วพริบตา





แนวคิดเรื่องการสร้าง "รูหนอน" (wormhole) หรือเส้นทางลัดข้ามจักรวาลที่เกิดจากการบิดเบี้ยวพับตัวของปริภูมิ-เวลา (space-time) ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์นั้น หลายคนทราบดีว่าเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้การผสมผสานระหว่างมวลและพลังงานชนิดพิเศษ เพื่อให้เกิดรูหนอนที่มีความเสถียร ไม่พังทลายไปเสียก่อนจะเคลื่อนย้ายวัตถุหรือข้อมูลสู่ปลายทางได้สำเร็จ
ล่าสุดทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาบาร์บารา (UCSB) ของสหรัฐฯ ได้เสนอวิธีการทางทฤษฎีเพื่อสร้างรูหนอนแบบที่มั่นคงแข็งแกร่งกว่าปกติ ในบทความวิจัยที่เผยแพร่ทางคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org โดยระบุว่าวิธีการดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนด้วยกัน

1. ทำให้หลุมดำมีประจุไฟฟ้า

ในทางทฤษฎีแล้ว รูหนอนอาจเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่หากเกิดการรบกวนเช่นมีผู้ส่งโฟตอนหรืออนุภาคของแสงเพียง 1 อนุภาคเข้าไปภายในรูหนอน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือรูหนอนพังทลายลงด้วยความเร็วเหนือแสง ทำให้ทางเข้าออกของมันปิดตายในชั่วพริบตา และการ "วาร์ป" เคลื่อนย้ายวัตถุหรือข้อมูลไม่เป็นผลสำเร็จ
ปัญหานี้อาจแก้ไขได้ด้วยการใช้วัตถุที่มวลเป็นลบ (negative mass) ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการรบกวนโครงสร้างของรูหนอน แต่ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นหาสสารที่มีมวลเป็นลบไม่พบ ทำให้ต้องคิดคำนวณหาทางอื่นที่เป็นไปได้จริงมากกว่าแทน
วิธีการหนึ่งซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการสร้างรูหนอนที่เสถียรมากขึ้น ก็คือการทำให้หลุมดำคู่หนึ่งมีประจุไฟฟ้า ทีมผู้วิจัยระบุว่าตามปกตินั้นหลุมดำสามารถจะมีประจุไฟฟ้าในตัวได้อยู่แล้ว โดยหลุมดำประเภทนี้จะมีภาวะเอกฐาน (singularity) ที่ยืดขยายและบิดเบี้ยวได้ ทำให้เกิดช่องทางเชื่อมต่อกับหลุมดำอีกแห่งหนึ่งที่มีประจุไฟฟ้าขั้วตรงข้าม จนกลายเป็นประตูทางเข้าออกของรูหนอนข้ามจักรวาลขึ้นในที่สุด

2. "ผูกโบว์" เสริมความแข็งแกร่งด้วยเส้นคอสมิก

อย่างไรก็ตาม รูหนอนที่เกิดจากคู่หลุมดำซึ่งต่างก็มีประจุไฟฟ้าขั้วตรงข้ามมาเชื่อมต่อกัน ยังคงมีปัญหาเรื่องความไม่คงทนถาวรอยู่เมื่อมีการส่งวัตถุหรือข้อมูลผ่านเข้าไปในนั้น
อุปสรรคอีกข้อหนึ่งก็คือหลุมดำทั้งสองอาจดึงดูดเข้าหากันเอง หากตั้งอยู่ในระยะห่างที่ไม่มากพอ ซึ่งจะทำให้คู่หลุมดำมีประจุรวมตัวเข้าด้วยกัน กลายเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ที่เป็นกลางทางไฟฟ้า แต่ไม่สามารถจะใช้ประโยชน์จากการสร้างรูหนอนอีกได้
เพื่อให้แน่ใจว่ารูหนอนจะเปิดอยู่เป็นเวลานานพอ จนสามารถเคลื่อนย้ายวัตถุหรือส่งข้อมูลได้ทันก่อนที่มันจะพังลงมา ทีมผู้วิจัยได้เสนอให้ใช้ "เส้นคอสมิก" (cosmic string) เสริมความแข็งแกร่งให้กับรูหนอนนี้
เส้นคอสมิกเป็นสิ่งที่นักฟิสิกส์สันนิษฐานว่ามีอยู่จริงในทางทฤษฎี โดยเป็นร่องรอยของข้อบกพร่องที่หลงเหลืออยู่หลังเกิดเหตุการณ์บิ๊กแบง คล้ายกับการเกิดรอยแตกในแผ่นน้ำแข็งเมื่อน้ำเริ่มเย็นจัดและแข็งตัว คาดว่าเส้นคอสมิกมีความบางเฉียบไม่เกินขนาดของอนุภาคโปรตอน แต่หากมันมีความยาวเพียง 1 นิ้ว ก็จะมีน้ำหนักมากกว่าเขาเอเวอเรสต์ทั้งลูก
เส้นคอสมิกสามารถทำให้เกิดแรงดึง (tension) ในระดับมหาศาลขึ้นได้ หากเรานำมันสอดเข้าไปในรูหนอนระหว่างคู่หลุมดำเหมือนร้อยเส้นด้าย จากนั้นดึงที่ปลายทั้งสองข้างของเส้นคอสมิกให้ตึง จนแรงดึงเพิ่มขึ้นถึงระดับที่เป็นอนันต์ ก็จะมีแรงต้านทานให้ทางเข้าออกของรูหนอนเปิดอยู่นานขึ้นและคู่หลุมดำไม่ขยับเข้าใกล้จนมารวมตัวกัน

3. สั่นสะเทือนจนเกิดพลังงานลบ

หากต้องการให้รูหนอนมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทีมผู้วิจัยระบุว่าให้ทบปลายทั้งสองข้างของเส้นคอสมิกที่โผล่พ้นรูหนอนให้บรรจบเข้าด้วยกันเป็นวงกลม จะทำให้รูหนอนไม่พังทลายอย่างง่ายดายในชั่วพริบตาเหมือนเช่นเดิม
การที่เส้นคอสมิกกลายเป็นวงกลม ทำให้มันบิดตัวไปมาและสั่นอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนสร้างความปั่นป่วนให้กับปริภูมิ-เวลาโดยรอบ ซึ่งหากการสั่นเพิ่มไปถึงระดับที่เหมาะสมแล้ว พลังงานที่อยู่ในบริเวณนั้นจะมีค่าเป็นลบ (negative energy) โดยในทางฟิสิกส์พลังงานนี้จะให้ผลแบบเดียวกับมวลที่เป็นลบ ซึ่งจะทำให้รูหนอนเสถียรได้
แต่อย่างไรก็ดี การสั่นของเส้นคอสมิกจะทำให้มันค่อย ๆ สูญเสียมวลและพลังงานในตัวเองทีละน้อย จนกระทั่งมีขนาดเล็กลงและหดหายไป จนเหลือแต่ความว่างเปล่าในที่สุด
ถึงกระนั้นก็ตาม ช่วงเวลาที่เส้นคอสมิกยังคงสั่นอยู่ ได้ช่วยยืดระยะเวลาให้รูหนอนมีความเสถียรอยู่นานพอ จนสามารถเคลื่อนย้ายวัตถุ ข้อมูล หรือแม้แต่ทีมสำรวจอวกาศของชาวโลกไปยังอีกฝั่งของห้วงจักรวาลได้อย่างปลอดภัย ถึงจุดหมายปลายทางในชั่วพริบตา
เพียงแต่ตอนนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์จะต้องเริ่มค้นหา "เส้นคอสมิก" ให้เจอเสียก่อนก็เท่านั้น

ที่มา: https://www.bbc.com/thai/features-49530491

ข่าวที่ 2

ปัญญาประดิษฐ์ : อันตรายแค่ไหน เมื่อเอไอเขียนข่าวปลอมเองได้


OpenAI บริษัทค้นคว้าวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ เปิดตัว ปัญญาประดิษฐ์ที่เขียนตัวอักษรเองได้ (the text generator) ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะถูกนำไปสร้างข่าวปลอม หรือข้อความสแปม (ข่าวขยะ) ที่มีลักษณะรังแกเหยียดหยาม ในโซเชียลมีเดีย
ก่อนหน้านี้บริษัทจัดว่าโปรแกรมนี้อันตรายเกินไปที่จะเปิดให้สาธารณะใช้ แต่ตอนนี้ได้เผยแพร่ระบบรุ่นใหม่ซึ่งทรงพลังมากกว่าเดิมออกมาแล้ว
บีบีซีและผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ทดลองใช้ระบบที่ชื่อว่า GPT-2 นี้ดู ซึ่งเป็นระบบที่สร้างจากฐานข้อมูลจากหน้าเว็บถึง 8 ล้านแห่ง และสามารถสร้างข้อความใหม่ขึ้นโดยใช้ฐานจากข้อความเริ่มต้นที่คนป้อนไปให้
ระบบสามารถเขียนกลอนเชกสเปียร์ต่อจนจบบท และเขียนบทความเองได้
ทริสตัน กรีน เขียนบทความลงในเว็บไซต์ด้านเทคโนโลยี The Next Web ว่า เขารู้สึกกังวลกับระบบ GPT-2 เพราะ "มันเป็นตัวแทนของเทคโนโลยีประเภทที่มนุษย์คิดร้ายจะใช้ในการชักจูงผู้คน และผมคิดว่ามันอันตรายกว่าปืนชนิดไหน ๆ เสียอีก"
บีบีซีทดลองใช้ระบบด้วยการใส่ประโยค 2-3 ประโยคจากข่าวจริงของบีบีซีที่ระบุว่า : "Sogou เว็บไซต์ค้นหาของจีนได้สร้างคนหน้าเหมือนจากปัญญาประดิษฐ์เพื่ออ่านนวนิยายยอดนิยมด้วยเสียงของผู้เขียน"
และนี่คือผลลัพธ์ที่เอไอเขียนขึ้นมา :
"นักวิจัยระบุว่า วิธีการอ่านนี้ไม่ใช่แค่สิ่งประดิษฐ์ของผู้ใช้ Amazon Kindle เท่านั้น ผู้ใช้อุปกรณ์ของ Android ยังเป็นกลุ่มตลาดที่สำคัญสำหรับการอ่านแบบปลอม ๆ อีกด้วย มีหลายทฤษฎีที่จะช่วยอธิบายสิ่งนี้..."
นี่คือข่าวจริงที่คุณสามารถลองอ่านเปรียบเทียบดูได้
โนเอล ชาร์คีย์ ศ.ด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ ได้ทำการทดลองใช้ระบบนี้เช่นกัน แต่ก็ไม่ประทับใจเท่าไรนัก
"ถ้าซอฟต์แวร์ทำงานได้ดีเท่ากับที่ OpenAl อ้าง มันจะสามารถสร้างข่าวปลอมหรือข้อความปลอมที่ล่อให้คนคลิกได้ง่ายมาก แต่โชคดีที่ระบบ ณ ตอนนี้ ยังสร้างข้อความที่ฟังดูตลก และไม่เชื่อมโยงกันกับข้อความตั้งต้นที่ให้ไป"
ชาร์คีย์ ใส่ข้อความตั้งต้นไปว่า ไก่งวงเกลียดเทศกาลคริสต์มาส (Turkeys hate Christmas) แต่ข้อความที่ได้กลับมาคือ "ตุรกีเป็นชาติเดียวในโลกที่ไม่ฉลองเทศกาลคริสต์มาส" (Turkey is the only nation in the world that doesn't celebrate Christmas)
เดฟ คอพลิน ผู้ก่อตั้งบริษัทให้คำปรึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ The Envisioners ได้ลองทดลองระบบนี้เช่นกันโดยใส่คำตั้งต้นไปว่า "ชายคนหนึ่งเดินเข้าบาร์..."


ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ "...และสั่งเบียร์ 2 แก้ว และเหล้าสก็อตช์ 2 แก้ว ตอนชายคนนั้นพยายามจะจ่ายเงิน มีชายสองคนมาเผชิญหน้าเขา คนหนึ่งตะโกนขึ้นว่า "นี่เพื่อซีเรีย" แล้วชายคนนั้นก็ถูกทิ้งให้เลือดไหลและถูกแทงที่คอ"
เขาบอกว่า ผลลัพธ์นี้เป็นบทเรียนว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ใด ๆ ก็ตามจะเผยให้เห็นอคติที่พบในฐานข้อมูล
คอพลิน บอกว่าเมื่อผ่านช่วงเริ่มต้นของการใช้ระบบลักษณะนี้ไปแล้ว สิ่งสำคัญที่คนในสังคมจะต้องมาถกเถียงกันคือ เราอยู่ในโลกลักษณะไหนที่นับวันข้อมูลที่สร้างโดยมนุษย์กับที่สร้างโดยระบบคอมพิวเตอร์ดูจะแยกออกจากกันยากมากขึ้น

ในตอนแรก OpenAI เป็นบริษัทไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
ในตอนแรก อีลอน มัสก์ ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนด้วย แต่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทมาสักพักแล้ว

ที่มา: https://www.bbc.com/thai/international-49497707

ข่าวที่ 1

ผุดไอเดียลิฟต์อวกาศแบบใหม่ เชื่อมวงโคจรโลกกับพื้นดวงจันทร์ด้วยสายเคเบิล



ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเสนอแผนการสร้าง "สเปซไลน์" (Spaceline) ลิฟต์อวกาศแบบใหม่ที่มีความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสูงยิ่งกว่าเดิม โดยใช้สายเคเบิลที่ผลิตจากวัสดุล้ำยุคเชื่อมต่อระหว่างพื้นผิวดวงจันทร์กับสถานีอวกาศนอกโลก
วิธีดังกล่าวจะช่วยตัดลดค่าใช้จ่ายในการยิงจรวดส่งยานอวกาศออกนอกวงโคจรของโลกไปได้อย่างมาก โดยในอนาคตผู้เดินทางท่องอวกาศเพียงโดยสารมากับจรวดให้ถึงระดับวงโคจรค้างฟ้า (geostationary orbit) ของดาวเทียมทั่วไปเท่านั้น แล้วจะสามารถขึ้นลิฟต์อวกาศที่สถานีเชื่อมต่อนอกโลกตรงไปยังดวงจันทร์ได้ทันที
แนวความคิดใหม่นี้เป็นของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักร โดยมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์คลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org เมื่อไม่นานมานี้
รายงานการวิจัยดังกล่าวระบุว่า สเปซไลน์นั้นเป็นลิฟต์อวกาศที่มีความเป็นไปได้ในการก่อสร้างจริงสูง และสามารถสร้างขึ้นจากวัสดุแข็งแกร่งที่สุดที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยการยึดสายเคเบิลเข้ากับพื้นผิวดวงจันทร์แต่ไม่ยึดโยงกับพื้นโลกนั้น ทำให้เสี่ยงกับปัญหาเดิม ๆ เรื่องความมั่นคงแข็งแกร่งและความปลอดภัยของลิฟต์อวกาศน้อยลง เนื่องจากไม่ต้องต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกที่รุนแรงกว่า รวมทั้งความเร็วในการหมุนของโลกที่จะทำให้สายเคเบิลขาด

ลิฟต์อวกาศแบบใหม่จะใช้สายเคเบิลยึดพื้นผิวดวงจันทร์และโยงมายังสถานีอวกาศนอกโลก ซึ่งจะสร้างขึ้นในลักษณะคล้ายกับลูกดิ่งที่ถูกผูกห้อยไว้ที่ปลายเชือก และจะมีกระสวยอวกาศแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์วิ่งรับส่งผู้โดยสารไปตามเส้นทางนี้
สำหรับวัสดุที่จะใช้ในการผลิตสายเคเบิลนั้น ทีมผู้วิจัยเสนอว่าแม้ตัวเลือกที่ดีที่สุดจะเป็นวัสดุแห่งอนาคตอย่างคาร์บอนนาโนทิวบ์ แต่วัสดุที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเช่นพอลิเอทิลีนน้ำหนักโมเลกุลสูงพิเศษ (UHMWPE) ซึ่งเป็นเส้นใยที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ก็มีความเหมาะสมสำหรับโครงการลิฟต์อวกาศเช่นกัน โดยอาจออกแบบให้สายเคเบิลมีรูปทรงตีบแคบที่ส่วนปลายทั้งสองข้าง แต่มีความหนามากเป็นพิเศษตรงส่วนกลาง เพื่อป้องกันการฉีกขาด
ทีมผู้วิจัยยังหวังว่า การสร้างลิฟต์อวกาศแบบยึดติดกับพื้นดวงจันทร์นี้ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาสถานีทดลองในอวกาศหรือแม้แต่การสร้างอาณานิคมอวกาศแห่งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างสถานีต่าง ๆ ในจุดสมดุลแรงโน้มถ่วงระหว่างโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ หรือจุดลากรานเจียน (Lagrangian Point) ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดพลังงานได้มาก
ความคิดเรื่องก่อสร้างระบบลิฟต์อวกาศนั้นมีมานานกว่า 100 ปี แต่ยังไม่สามารถทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะมีข้อจำกัดอย่างมหาศาล ทั้งเรื่องวัสดุที่ใช้ซึ่งจะต้องมีน้ำหนักเบาและทนทานแข็งแกร่ง เพื่อให้ระบบลิฟต์ที่สูงเกินปกติรับน้ำหนักของตัวเองได้ ส่วนโครงสร้างของลิฟต์ต้องสามารถต้านทานต่อแรงโน้มถ่วงของโลกและแรงหนีศูนย์กลางที่มากระทำ รวมทั้งทนต่อสภาพอากาศรุนแรงบนโลกเช่นลมพายุได้ด้วย

ที่มา: https://www.bbc.com/thai/features-49494221

ข่าวที่ 7

อวกาศ : นักดาราศาสตร์ค้นพบน้ำเป็นครั้งแรกบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในเขตเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิต ทีมนักดาราศาสตร์ของสหราชอาณาจักรค้นพบว...